นอนไม่เต็มอิ่ม หรือ นอนดึกตื่นสาย-นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เสี่ยงโรคเบาหวาน

อัพเดท : 09/10/2018 20:25:51, อ่าน : 2,202 , โพสโดย : M Food, หมวดหมู่ สุขภาพ

นอนไม่เต็มอิ่ม หรือ นอนดึกตื่นสาย-นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เสี่ยงโรคเบาหวาน

นอนไม่หลับ

เบาหวาน เป็นโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในประชากรไทย จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2557) โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

 

เบาหวานในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 สัดส่วนของผู้ป่วยเบาหวานไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31.2 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 43.1 ในปี 2557 ทั้งนี้ การเจ็บป่วยจากโรคเบาหวานจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เนื่องจากจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับร่างกายและมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคไตวายเรื้อรัง โรคปลายประสาทตาและจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

 

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)กล่าว ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานคือ การที่ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และภาวะการทำงานของตับอ่อนที่แย่ลง ทั้ง 2 ภาวะนี้ทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ปกติ นำมาสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานโดยเฉพาะความรู้ในประเด็นใหม่ๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคเบาหวาน เช่น ภาวะกรดยูริคในเลือดสูงและการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เป็นความรู้ที่สำคัญและยังมีไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้วินิจฉัยผู้ป่วยก่อนเป็นโรคเบาหวานได้

ดังนั้น สวรส. จึงได้สนับสนุนการศึกษาเรื่องอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานและการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยการนอนหลับและระดับกรดยูริคในเลือดกับระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ในผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงหรือภาวะก่อนจะเป็นเบาหวาน เพื่อทราบถึงโอกาสของการป่วยเป็นเบาหวาน

ทางด้านผศ.ดร.พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวีเครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานและการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยการนอนหลับและระดับกรดยูริคในเลือด กล่าวว่า

 

คำถามหนึ่งที่พบได้บ่อยจากผู้ที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด 100-109 mg/dL กับ 110-125 mg/dL ว่าจะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานได้มากน้อยต่างกันอย่างไร ซึ่งแพทย์ก็จะบอกได้เพียงมีความเสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมากเท่านั้น ในการศึกษาจึงได้เปรียบเทียบอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานในผู้ที่มีค่าน้ำตาลในเลือด ระหว่าง 100-109 mg/dLกับ 110-125 mg/dL พบว่า ในระยะเวลา 2 ปีผู้ที่มีค่าน้ำตาลในเลือด 100-109 mg/dL กับ 110-125mg/dL มีอัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวาน คิดเป็นร้อยละ 3 กับร้อยละ 8 ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย ควบคุมอาหารหวาน มัน เค็ม ป้องกันไม่ให้ค่าน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเลี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต”

 นอนไม่หลับ

ส่วนผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเกี่ยวกับการนอนหลับและระดับ HbA1C พบว่า ในคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ คนที่นอนดึกตื่นสายรวมถึงคนนอนไม่เพียงพอหรือนอนต่ำกว่า 6 ชั่วโมงจะมีระดับน้ำตาลสะสมในเลือดมากกว่าคนที่เข้านอนเร็วอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเข้านอนผิดเวลาธรรมชาติจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา

 

ผศ.ดร.พญ.ธัญญรัตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า “การเข้านอนสายหรือเข้านอนช้า เช่น เข้านอนตี 3ไปตื่นนอนตอน 11 โมงถึงเที่ยงวัน แม้คิดว่าได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนที่เข้านอนเร็ว นอกจากนี้คนที่ทำงานเป็นกะ คนที่นอนไม่ต่อเนื่อง เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน เนื่องจากร่างกายของมนุษย์จะทำงานสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ หรือ Human Biological Clock ซึ่งเป็นระบบสำคัญของร่างกายในการควบคุมวงรอบการหลับ-ตื่น และควบคุมการหลั่งฮอร์โมน ตลอดจนควบคุมระดับอุณหภูมิร่างกายของแต่ละคน ดังนั้น คนที่นอนตื่นสายพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติไปและส่งผลต่อการทำงานของตับอ่อนที่แย่ลง ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ จึงแนะนำว่าควรพักผ่อนโดยเข้านอน 2-3 ทุ่ม แล้วตื่นนอนเวลา 6 โมง ให้สัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ”

 

 ที่มา: http://www.naewna.com


ป้ายกำกับ : นอนไม่หลับ โรคเบาหวาน สุขภาพ
หมวดหมู่ ขั้นตอนการใช้งาน ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ ท่องเที่ยว บ้านและสวน มาตรฐาน ร้านอาหาร รีวิวร้านอาหาร วัตถุดิบประกอบอาหาร สุขภาพ อาหาร เกษตร เครื่องดื่ม โปรแกรมร้านอาหาร โปรโมชั่น ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด
วันที่สร้าง : 09/10/2018 20:25:51
โพสโดย : M Food
สร้างสรรค์บทความดี ๆ ด้วยตัวคุณเอง คลิกที่นี่ เพื่อเขียนบทความใหม่ ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน
อ่านวิธีลงบทความของคุณได้คลิกที่นี่

บทความสุขภาพที่คุณอาจสนใจ

ข่าวสารอาหาร

อ่านบทความทั้งหมด

ร้านอาหารที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด

© 2024 M Food Service. โปรแกรมร้านอาหาร สำหรับบริการอาหารและเครื่องดื่ม | Developed by m2010thai.com